จิตวิทยาการเรียนการสอน
จิตวิทยา
คำว่า “จิตวิทยา” เป็นคำที่เข้าใจได้ยากและถูกเข้าใจผิดโดยคนส่วนใหญ่อยู่เสมอ
สมัยที่ผมเอนทรานซ์และเลือกเรียนจิตวิทยา
ผมคิดว่าจิตวิทยาน่าจะเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเพื่ออ่านใจคน
หรือไม่ก็เป็นการฝึกฝนพลังอำนาจทางจิต แต่พอได้เข้ามาเรียนแล้ว ผมพบว่าความเข้าใจของผมค่อนข้างจะห่างไกลจากความเป็นจริงอยู่พอสมควร
และผมไม่ได้เป็นคนเดียวที่มีความเข้าใจผิดเช่นนี้
จิตวิทยาการศึกษามีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษา
การสร้างหลักสูตรและการเรียนการสอน โดยคำนึงถึงความแตกต่างของบุคคล
นักการศึกษาและครูจำเป็นจะต้องมีความรู้พื้นฐานทางจิตวิทยาการศึกษา
เพื่อจะได้เข้าใจพฤติกรรมของผู้เรียนและกระบวนการเรียนรู้
ตลอดจนแก้ปัญหาต่างๆ
เกี่ยวกับการเรียนการสอนเหมือนกับวิศวกรที่จำเป็นจะต้องมีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยทั่วไปแล้ว
เนื้อหาของจิตวิทยาการศึกษาที่เป็นความรู้พื้นฐานสำหรับครูและนักการศึกษาประกอบด้วยหัวข้อต่อไปนี้
๑.
ความสำคัญของวัตถุประสงค์ของการศึกษาและบทเรียน
นักจิตวิทยาการศึกษาได้เน้นความสำคัญของความแจ่มแจ้งของการระบุวัตถุประสงค์ของการศึกษา
บทเรียน ตลอดจนถึงหน่วยการเรียน เพราะวัตถุประสงค์จะเป็นตัวกำหนดการจัดการเรียนการสอน
๒.
ทฤษฎีพัฒนาการ และทฤษฎีบุคลิกภาพ
เป็นเรื่องที่นักการศึกษาและครูจะต้องมีความรู้ เพราะ
จะช่วยให้เข้าใจเอกลักษณ์ของผู้เรียนในวัยต่างๆ โดยเฉพาะวัยอนุบาล วัยเด็ก
และวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่กำลังศึกษาในโรงเรียน
๓.
ความแตกต่างระหว่างบุคคลและกลุ่ม
นอกจากมีความเข้าใจพัฒนาการของเด็กวัยต่างๆ แล้ว
นักการศึกษาและครูจะต้องเรียนรู้ถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและกลุ่มทางด้านระดับเชาวน์ปัญญา
ความคิดสร้างสรรค์ เพศ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งนักจิตวิทยาได้คิดวิธีการวิจัยที่จะช่วยชี้ให้เห็นว่าความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นตัวแปรที่สำคัญในการเลือกวิธีสอน
และในการสร้างหลักสูตรที่เหมาะสม
๔.
ทฤษฎีการเรียนรู้
นักจิตวิทยาที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้
นอกจากจะสนใจว่าทฤษฎีการเรียนรู้จะช่วยนักเรียนให้เรียนรู้และจดจำอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไรแล้ว
ยังสนใจองค์ประกอบเกี่ยวกับตัวของ
ผู้เรียน เช่น
แรงจูงใจว่ามีความสัมพันธ์กับการเรียนรู้อย่างไร
ความรู้เหล่านี้ก็มีความสำคัญต่อการเรียนการสอน
๕.
ทฤษฎีการสอนและเทคโนโลยีทางการศึกษา
นักจิตวิทยาการศึกษาได้เป็นผู้นำในการบุกเบิกตั้งทฤษฎีการสอน ซึ่งมีความสำคัญและมีประโยชน์เท่าเทียมกับทฤษฎีการเรียนรู้และพัฒนาการในการช่วยนักการศึกษาและครูเกี่ยวกับการเรียนการสอน
สำหรับเทคโนโลยีในการสอนที่จะช่วยครูได้มากก็คือ คอมพิวเตอร์ช่วยการสอน
๖.
หลักการสอนและวิธีสอน
นักจิตวิทยาการศึกษาได้เสนอหลักการสอนและวิธีการสอนตามทฤษฎีทางจิตวิทยาที่แต่ละท่านยึดถือ
เช่น หลักการสอนและวิธีสอนตามทัศนะนักจิตวิทยาพฤติกรรมนิยม ปัญญานิยม
และมานุษยนิยม
๗.
หลักการวัดผลและประเมินผลการศึกษา
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้จะช่วยให้นักการศึกษา และครูทราบว่า
การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพหรือไม่ หรือผู้เรียนได้สัมฤทธิผลตามวัตถุประสงค์เฉพาะของ แต่ละวิชาหรือหน่วยเรียนหรือไม่ เพราะถ้าผู้เรียนมีสัมฤทธิผลสูง
ก็จะเป็นผลสะท้อนว่าโปรแกรมการศึกษามีประสิทธิภาพ
๘.
การสร้างบรรยากาศของห้องเรียน
เพื่อเอื้อการเรียนรู้และช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพของนักเรียน
ความเป็นมาของจิตวิทยา (History of Psychology)
วิชาจิตวิทยามีการศึกษาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว
มีนักปรัชญาคนสำคัญ คือ อริสโตเติล (Aristotle;
322-384 ก่อนคริสต์กาล) และเพลโต (Plato; 347- 427 ก่อนคริสต์กาล)
ได้ศึกษาทำความเข้าใจและอธิบายเกี่ยวกับธรรมชาติการแสดงออกของมนุษย์
ส่วนใหญ่เเชื่อตรงกันว่ามนุษย์มีส่วนประกอบสำคัญสองส่วน คือ ร่างกาย (body)
กับวิญญาณ (soul) วิญญาณจะมีอิทธิพลเหนือร่างกาย
เพราะจะคอยควบคุมให้ร่างกายกระทำสิ่งต่าง ๆ
ดังนั้น
การที่จะเข้าใจมนุษย์ได้จึงต้องอธิบายวิญญาณให้ชัดเจนก่อน
แต่การอธิบายวิญญาณในยุคกรีกโบราณนั้น
มักนิยมหาคำตอบเกี่ยวกับวิญญาณโดยใช้ความคิดอย่างมีเหตุผลของตนเองผสมผสานกับความเชื่อทางศาสนาในขณะนั้น
ทำให้ได้คำตอบไม่แน่นอนและไม่ชัดเจน
นักจิตวิทยาในยุคต่อมาจึงเรียกวิธีนี้ว่าอาร์มแชร์ (Armchair method) เพราะเป็นวิธีการหาคำตอบแบบนั่งอยู่กับที่
ไม่มีการค้าคว้า วิจัย ทดลอง หรือพิสูจน์ในเชิงวิทยาศาสตร์ให้เห็นจริง
จุดมุ่งหมายของจิตวิทยา (Aims of Psychology)
จิตวิทยาเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมภายนอกและพฤติกรรมภายใน
โดยมีจุดมุ่งหมายดังต่อไปนี้
๑.
เพื่อให้ผู้ศึกษาเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมภายนอก
หรือพฤติกรรมภายใน ที่เรี่ยกว่า กระบวนการทางจิต
อันจะทำให้เข้าใจตนเองและผู้อื่นได้ดีขึ้น
๒.
เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถอธิบายพฤติกรรม
ทั้งหลายที่เกิดขึ้นได้ว่ามีปัจจัยใดบ้างที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดพฤติกรรมต่าง
ๆ โดยนักจิตวิทยาทั้งหลายจะใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการค้นหาคำตอบ
เพื่ออธิบายพฤติกรรมทั้งหลายเหล่านั้น
๓. เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถทำนายพฤติกรรม
หมายถึงการคาดคะแนผลที่จะเกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง
๔.
เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถควบคุมพฤติกรรม ที่ไม่พึงประสงค์ให้ลดลงหรือหมดไป
และขณะเดียวกันให้สามารถเสริมสร้างพฤติกรรมที่พึงปรารถนาให้เกิดขึ้นใหม่ได้ด้วย
๕.
เพื่อให้ผู้ศึกษานำความรู้ไปประยุกต์ใช้ ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ
ที่เกิดขึ้นกับตนเองและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประโยชน์ของจิตวิทยา
๑. ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์
๒. ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจพัฒนาการของมนุษย์
๓. ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจและรู้พื้นฐานทางสรีรวิทยาที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนุษย์
๔.
ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจการรับสัมผัสและการรับรู้
๕.
ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจ
๖. ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจสิ่งสำคัญที่เกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้และการถ่ายโยงการเรียนรู้
๗.
ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจเชาวน์ปัญญาและตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อเชาว์ปัญญาของมนุษย์แต่ละบุคคล
๘.
ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจวิธีการประเมินและวัดบุคลิกภาพได้และแนวทางในการปรับปรุงบุคลิกภาพของตนเอง
๙.
ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจความหมายของสุขภาพจิตและสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพจิต
รู้วิธีการบำบัดรักษาผู้มีอาการทางจิตและการส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้กับตนเองและผู้อื่น
๑๐. ทำให้ผู้ศึกษามีวิธีในการปรับตัว
มีกลวิธานในการป้องกันตนเองและเข้าใจข้อดีและข้อเสียของการให้กลวิธานในการป้องกันตนเอง
๑๑.
ทำให้ผู้ศึกษาเกิดการรับรู้พฤติกรรมทางสังคม (Social
Perception) ที่มีต่อพฤติกรรมทางสังคมและนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองและสังคมได้เป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพ
บทสรุปของจิตวิทยา
จิตวิทยา คือ
การศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์ว่าด้วยเรื่องกระบวนการของจิต และพฤติกรรม
ของสิ่งที่มีชีวิตโดยเฉพาะมนุษย์
โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาพฤติกรรมทั้งภายในและภายนอกของมนุษย์ที่เรี่ยกว่ากระบวนการทางจิต
อันจะทำให้เข้าใจตนเองและผู้อื่นได้ดีขึ้น
สามารถอธิบายพฤติกรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นได้ว่ามีปัจจัยใดบ้างที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดพฤติกรรมต่าง
ๆ
โดยนักจิตวิทยาทั้งหลายจะใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการค้นหาคำตอบเพื่ออธิบายพฤติกรรมทั้งหลายเหล่านั้น
ซึ่งจะส่งผลให้สามารถควบคุมพฤติกรรม ที่ไม่พึงปรารถนาให้ลดลงหรือหมดไป
และขณะเดียวกันให้สามารถเสริมสร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นใหม่ได้ด้วย
และเพื่อให้ผู้ศึกษานำความรู้ไปประยุกต์ใช้ ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ
ที่เกิดขึ้นกับตนเองและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จิตวิทยาเป็นวิชาที่ใกล้เคียงกับพระพุทธศาสนาในโอกาสต่อไปจะเขียนบทความทางด้านวิชาพุทธจิตวิทยา
เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่าจิตวิทยาในพระพุทธศาสนามีความเป็นเลิศอย่างไร อย่างเช่น
ท่านพุทธทาสภิกขุ กล่าวว่า “การศึกษาเรื่องจิตในด้านต่างๆ เพื่อการดับทุกข์ การศึกษานั้นเรียกว่า
การศึกษาจิตวิทยาในพระพุทธศาสนา”
ธรรมชาติของการเรียนรู้
ธรรมชาติของการเรียนรู้ มี 4 ขั้นตอน
คือ
1. ความต้องการของผู้เรียน (Want) คือ ผู้เรียนอยากทราบอะไร
เมื่อผู้เรียนมีความต้องการอยากรู้อยากเห็นในสิ่งใดก็ตาม
จะเป็นสิ่งที่ยั่วยุให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้
2. สิ่งเร้าที่น่าสนใจ (Stimulus) ก่อนที่จะเรียนรู้ได้
จะต้องมีสิ่งเร้าที่น่าสนใจ และน่าสัมผัสสำหรับมนุษย์ ทำให้มนุษย์ดิ้นรนขวนขวาย
และใฝ่ใจที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่น่าสนใจนั้น ๆ
3. การตอบสนอง (Response)
เมื่อมีสิ่งเร้าที่น่าสนใจและน่าสัมผัส มนุษย์จะทำการสัมผัสโดยใช้ประสาทสัมผัสต่าง
ๆ เช่น ตาดู หูฟัง ลิ้นชิม จมูกดม ผิวหนังสัมผัส และสัมผัสด้วยใจ เป็นต้น
ทำให้มีการแปลความหมายจากการสัมผัสสิ่งเร้า เป็นการรับรู้ จำได้
ประสานความรู้เข้าด้วยกัน มีการเปรียบเทียบ และคิดอย่างมีเหตุผล
4.
การได้รับรางวัล (Reward) ภายหลังจากการตอบสนอง
มนุษย์อาจเกิดความพึงพอใจ ซึ่งเป็นกำไรชีวิตอย่างหนึ่ง จะได้นำไปพัฒนาคุณภาพชีวิต
เช่น การได้เรียนรู้ ในวิชาชีพชั้นสูง จนสามารถออกไปประกอบอาชีพชั้นสูง (Professional)
ได้ นอกจากจะได้รับรางวัลทางเศรษฐกิจเป็นเงินตราแล้ว
ยังจะได้รับเกียรติยศจากสังคมเป็นศักดิ์ศรี
และความภาคภูมิใจทางสังคมได้ประการหนึ่งด้วย
ลำดับขั้นของการเรียนรู้
ในกระบวนการเรียนรู้ของคนเรานั้น
จะประกอบด้วยลำดับขั้นตอนพื้นฐานที่สำคัญ 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ (1) ประสบการณ์ (2)
ความเข้าใจ และ (3) ความนึกคิด
1. ประสบการณ์ (experiences)
ในบุคคลปกติทุกคนจะมีประสาทรับรู้อยู่ด้วยกันทั้งนั้น
ส่วนใหญ่ที่เป็นที่เข้าใจก็คือ ประสาทสัมผัสทั้งห้า ซึ่งได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น
และผิวหนัง ประสาทรับรู้เหล่านี้จะเป็นเสมือนช่องประตูที่จะให้บุคคลได้รับรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง
ๆ ถ้าไม่มีประสาทรับรู้เหล่านี้แล้ว บุคคลจะไม่มีโอกาสรับรู้หรือมีประสบการณ์ใด ๆ
เลย ซึ่งก็เท่ากับเขาไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใด ๆ ได้ด้วยประสบการณ์ต่าง ๆ
ที่บุคคลได้รับนั้นย่อมจะแตกต่างกัน บางชนิดก็เป็นประสบการณ์ตรง
บางชนิดเป็นประสบการณ์แทน บางชนิดเป็นประสบการณ์รูปธรรม
และบางชนิดเป็นประสบการณ์นามธรรม หรือเป็นสัญลักษณ์
2. ความเข้าใจ (understanding)
หลังจากบุคคลได้รับประสบการณ์แล้ว ขั้นต่อไปก็คือ
ตีความหมายหรือสร้างมโนมติ (concept) ในประสบการณ์นั้น
กระบวนการนี้เกิดขึ้นในสมองหรือจิตของบุคคล เพราะสมองจะเกิดสัญญาณ (percept)
และมีความทรงจำ (retain) ขึ้น
ซึ่งเราเรียกกระบวนการนี้ว่า "ความเข้าใจ"
ในการเรียนรู้นั้น
บุคคลจะเข้าใจประสบการณ์ที่เขาประสบได้ก็ต่อเมื่อเขาสามารถจัดระเบียบ (organize) วิเคราะห์ (analyze) และสังเคราะห์
(synthesis) ประสบการณ์ต่าง ๆ
จนกระทั่งหาความหมายอันแท้จริงของประสบการณ์นั้นได้
3
ความนึกคิด (thinking) ความนึกคิดถือว่าเป็นขั้นสุดท้ายของการเรียนรู้
ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในสมอง Crow (1948) ได้กล่าวว่า
ความนึกคิดที่มีประสิทธิภาพนั้น ต้องเป็นความนึกคิดที่สามารถจัดระเบียบ (organize)
ประสบการณ์เดิมกับประสบการณ์ใหม่ที่ได้รับให้เข้ากันได้
สามารถที่จะค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์ทั้งเก่าและใหม่
ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิดบูรณาการการเรียนรู้อย่างแท้จริง
จิตวิทยาการเรียนรู้
การเรียนรู้เกิดจากการรับรู้ของระบบประสาท
และการแปลรหัสการรับรู้ให้สมองสั่งการ
ความรู้สึกใดที่สมองได้บันทึกและจดจำไว้จะเรียกว่าประสบการณ์ เมื่ออวัยวะสัมผัสต่อสิ่งเดิมอีกจะเกิดการระลึกได้องค์ประกอบของการเรียนรู้
1. สติปัญญาของผู้รับรู้
ถ้าสติปัญญาดีจะเรียนรู้ได้เร็ว
2.
ความตั้งใจในกิจกรรมที่ผู้รับรู้สัมผัส
3. ความสนใจ
การมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งนั้น
4. สภาพจิตใจของผู้รับรู้ในขณะนั้น
พฤติกรรมการเรียนรู้
จุดมุ่งหมายของการเรียนรู้แบ่งเป็น 3
กลุ่ม
1. พุทธนิยม หมายถึง
การเรียนรู้ในด้านความรู้ ความเข้าใจ
2. จิตพิสัย หมายถึง
การเรียนรู้ด้านทัศนคติ ค่านิยม ความซาบซึ้ง
3. ทักษะพิสัย หมายถึง
การเรียนรู้เกี่ยวกับการกระทำหรือปฏิบัติงานการเรียนรู้กับการเรียนการสอนในการสอนที่ดี
ผู้สอนจำเป็นต้องนำทฤษฎีการเรียนรู้มาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอน
เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุจุดประสงค์ในการเรียนรู้ ซึ่งสามารถกระทำได้หลายสถานการณ์
เช่น
1. การมีส่วนร่วมในการรับรู้
โดยให้ผู้เรียนมีโอกาสคิดและไตร่ตรอง
2. การทราบผลย้อนกลับ การให้ผู้เรียนได้รับทราบผลของการทำกิจกรรมต่าง
ๆ
3. การเสริมแรง
ทำให้ผู้เรียนมีความภาคภูมิใจ
4. การเรียนรู้ตามระดับขั้น
โดยจัดความรู้จากง่ายไปยาก.
จิตวิทยาพัฒนาการ
เป็นจิตวิทยาแขนงหนึ่งที่มุ่งศึกษามนุษย์ทุก
วัยตั้งแต่ปฏิสนธิจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ในทุก ๆ ด้าน
ทั้งด้านการเจริญเติบโตทางร่างกาย ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก เจตคติ
พฤติกรรมการแสดงออก สังคม บุคลิกภาพ ตลอด จนสติปัญญาของบุคคลในวัยต่างกัน
เพื่อให้ทราบถึงลักษณะพื้นฐาน ความเป็นมา จุดเปลี่ยน จุดวิกฤตในแต่ละวัย
การรับรู้และการเรียนรู้
การเรียนรู้
คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมซึ่งเนื่องมาจากประการณ์หรือการฝึกหัดและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนั้นมีลักษณะค่อนข้างถาวร
หลักของการเรียนรู้ มี 3 รูปแบบ คือ
1.การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก (classical conditioning)เป็นการทดลองโดยใช้สัตว์เป็นตัวทดลอง
มีผงเนื้อและกระดิ่งเป็นสิ่งเร้า จะใช้กระดิ่งเป็นตัววางเงื่อนไข
จึงเรียกกระบวนการนี้ว่า การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก
2.การวางเงื่อนไขในมนุษย์วัตสัน
และเรย์นอร์ ได้ร่วมกันวางเงื่อนไขกับคน
ซึ่งเป็นการทดลองที่มีชื่อเสียงมากตามแนวคิดของวัตสัน
เขาเห็นว่าการเรียนรู้คือการนำเอาสิ่งเร้าไปผูกพันกับการตอบสนองและการตอบสนองที่คนเรามีติดตัวมาก็คือ
อารมณ์ เช่น กลัว โกรธ รัก ดังนั้นเขาจึงศึกษาการวางเงื่อนไขเกี่ยวกับความกลัวของเด็กการทดลองได้กระทำกับเด็กคนหนึ่งชื่อ
อัลเบิร์ต (Albert) มีอายุ 11
เดือน
โดยปกติเด็กคนนี้ไม่รู้จักกลัวสัตว์ใดๆ
เลย และชอบเล่นตุ๊กตาที่ทำด้วยผ้าสำลีเป็นขนปุกปุย
ต่อมาวัตสันนำเอาหนูขาวที่มีขนปุกปุยน่ารัก มีความเชื่องกับคนมาให้เด็กคนนี้ดู
พอเด็กเห็นก็พอใจอยากเล่น จึงคลานเข้าไปจับต้องและเล่นกับหนูขาวจนเป็นที่พอใจ
แล้ววัตสันก็นำหนูขาวออกไป ครั้นต่อมาวัตสันนำเอาหนูขาวมาให้เด็กคนนี้ดูอีก
เมื่อเด็กเห็นก็ดีใจรีบคลานเข้าไปจะจับหนูขาว พอเข้าไปใกล้กำลังเอื้อมมือจะจับ
วัตสันก็เคาะเหล็กทำให้เกิดเสียงดัง เด็กจึงตกใจกลัง ร้องไห้ ไม่กล้าจับหนูขาว
วัตสัตได้ทดลองในลักษณะนี้ประมาณ 5 ครั้งติดกัน ทุกครั้งเด็กจะร้องไห้และตกใจกลัว
ในที่สุดก็เกิดกลังหนูขาว ซึ่งเพียงแต่เห็นหนูขาวอยู่ไกล ๆ ก็ร้องไห้เสียแล้ว
นั่นเป็นการแสดงให้เห็นว่า เด็กกลัวหนูขาวเพราะถูกวางเงื่อนไข
3.การวางเงื่อนไขแบบการกระทำ
(operant conditioning)สกินเนอร์ และ ธอร์นไดค์
เป็นผู้นำที่สำคัญและในช่วงระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิกของพาฟลอฟ
ธอร์นไดค์ได้ศึกษาถึงความสามารถในการคิดและหาเหตุผลของสัตว์
ทำให้เขาค้นพบหลักการเรียนรู้แบบการกระทำซึ่งสกินเนอร์ก็ได้ให้ความสนใจในแนวคิดนี้และได้ให้ชื่อว่า
การวางเงื่อนไขแบบการกระทำการศึกษาในตอนแรกได้ศึกษากับ แมว สุนัข และลิง
แต่ที่มีชื่อเสียงและรู้จักกันดีเป็นการศึกษากับแมว
โดยเขาจะจับแมวที่กำลังหิวใส่กรงใบหนึ่งที่เขาสร้างขึ้นมา กรงนั้นมีชื่อว่า กรงประตูกล
(Puzzle Box) ซึ่งที่กรงจะมีเชือกและลวดสปริงผูกติดต่อกับแผ่นไม้เล็ก
ๆ ถ้าบังเอิญไปกดแผ่นไม้เล็ก ๆ นี้จะทำให้เกิดกลไกการดึงทำให้ประตูเปิดออกได้
การทดลองของเขาจะเริ่มโดยจับแมวที่กำลังหิวใส่ไว้ในกรง และข้าง ๆ
กรงด้านนอกจะมีปลาดิบวางไว้ไม่ไกลพอที่แมวจะมองเห็นได้ถนัด
ในการทดลองสองสามครั้งแรก แมวซึ่งหิวมีอาการงุ่นง่านเพื่อหาทางออกไปกินปลา
มันปฏิบัติการตอบสนองมากมายโดยวิ่งไปหลักกรง หน้ากรง เอาอุ้งเท้าเขี่ย
เอาสีข้างถูกรง
แต่ทั้งหมดก็เป็นไปด้วยการเดาสุ่มจนกระทั่งบังเอิญแมวไปถูกแผ่นไม้เล็ก ๆ นั้น
ทำให้ประตูเปิดออก แมวจึงได้กินปลาดิบ
คุณค่าของสื่อการเรียนการสอนการเรียนการสอน
1.สื่อการเรียนการสอนสามารถเอาชนะข้อจำกัดเรื่องความแตกต่างกันของประสบการณ์ดั้งเดิมของผู้เรียน
คือเมื่อใช้สื่อการเรียนการสอนแล้วจะช่วยให้เด็กซึ่งมีประสบการณ์เดิมต่างกันเข้าใจได้ใกล้เคียงกัน
2.ขจัดปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสถานที่
ประสบการณ์ตรงบางอย่าง หรือการเรียนรู้
3.ทำให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรงจากสิ่งแวดล้อมและสังคม
4.สื่อการเรียนการสอนทำให้เด็กมีความคิดรวบยอดเป็นอย่างเดียวกัน
5.ทำให้เด็กมีมโนภาพเริ่มแรกอย่างถูกต้องและสมบูรณ์
6.ทำให้เด็กมีความสนใจและต้องการเรียนในเรื่องต่าง
ๆ มากขึ้น เช่นการอ่าน ความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ ทัศนคติ การแก้ปัญหา ฯลฯ
7.เป็นการสร้างแรงจูงใจและเร้าความสนใจ
8.ช่วยให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์จากรูปธรรมสู่นามธรรม
ทฤษฎีการเรียนรู้โดยการค้นพบของบรูนเนอร์
บรูนเนอร์ ได้ให้ชื่อการเรียนรู้ของท่านว่า “Discovery Approach” หรือ การเรียนรู้โดยการค้นพบ
บรูนเนอร์เชื่อว่าการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม
ซึ่งนำไปสู่การค้นพบการแก้ปัญหา ผู้เรียนจะประมวลข้อมูลข่าวสาร
จากการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม และจะรับรู้สิ่งที่ตนเองเลือก หรือสิ่งที่ใส่ใจ
การเรียนรู้แบบนี้จะช่วยให้เกิดการค้นพบ เนื่องจากผู้เรียนมีความอยากรู้อยากเห็น
ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันที่ทำให้สำรวจสิ่งแวดล้อม และทำให้เกิดการเรียนรู้โดยการค้นพบ
โดยมีแนวคิดที่เป็นพื้นฐาน ดังนี้
การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ผู้เรียนมรปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้วยตนเอง
ผู้เรียนแต่ละคนจะมีประสบการณ์และพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกัน
การเรียนรู้จะเกิดจากการที่ผู้เรียนสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่พบใหม่กับความรู้เดิมแล้วนำมาสร้างเป็นความหมายใหม่
บรูนเนอร์ ได้เห็นด้วยกับ พีอาเจต์ว่า
คนเรามีโครงสร้างสติปัญญา (Congnitive
Structure) มาตั้งแต่เกิด ในวัยทารกโครงสร้างสติปัญญายังไม่ซับซ้อน
เพราะยังไม่พัฒนาต่อเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมจะทำให้โครงสร้างสติปัญญามีการขยายและซับซ้อนขึ้น
หน้าที่ของโรงเรียนก็คือการช่วยเอื้อการขยายของโครงสร้างสติปัญญาของนักเรียน
นอกจากนี้บรูนเนอร์ ยังได้ให้หลักการเกี่ยวกับการสอนดังต่อไปนี้
1. กระบวนความคิดของเด็กแตกต่างกับผู้ใหญ่
เวลาเด็กทำผิดเกี่ยวกับความคิด ผู้ใหญ่ควรจะคิดถึงพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญา
ซึ่งเด็กแต่ละวัยมีลักษณะการคิดที่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่ ครูหรือผู้มีความรับผิดชอบทางการศึกษาจะต้องมีความเข้าใจว่าเด็กแต่ละวัยมีการรู้คิดอย่างไร
และกระบวนการรู้คิดของเด็กไม่เหมือนผู้ใหญ่ (Intellectual
Empathy)
2.
เน้นความสำคัญของผู้เรียน ถือว่าผู้เรียนสามารถจะควบคุมกิจกรรม
การเรียนรู้ของตนเองได้ (Self- Regulation) และเป็นผู้ที่จะริเริ่มหรือลงมือกระทำ
ฉะนั้น ผู้มีหน้าที่สอนและอบรมมีหน้าที่จัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อการเรียนรู้โดยการค้นพบ
โดยให้โอกาส ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม
3.
ในการสอนควรจะเริ่มจากประสบการณ์ที่ผู้เรียนคุ้นเคย
หรือประสบการณ์ที่ใกล้ตัวไปหาประสบการณ์ที่ไกลตัว เพื่อผู้เรียนจะได้มีความเข้าใจ
เช่น การสอนให้นักเรียนรู้จักการใช้แผนที่ ควรจะเริ่มจากแผนที่ของจังหวัดของผู้เรียนก่อนแผนที่จังหวัดอื่นหรือแผนที่ประเทศไทย
บรูนเนอร์ เชื่อว่า วิชาต่าง ๆ
จะสอนให้ผู้เรียนเข้าใจได้ทุกวัยถ้าครูจะสามารถใช้วิธีการสอนที่เหมาะสมกับวัยของผู้เรียน
ข้อสำคัญครูจะต้องให้นักเรียนเป็นผู้กระทำหรือเป็นผู้แก้ปัญหาเอง บรูนเนอร์
ได้สรุปความสำคัญของการเรียนรู้โดยการค้นพบว่าดีกว่าการเรียนรู้
โดยวิธีอื่นดังต่อไปนี้
1. ผู้เรียนจะเพิ่มพลังทางสติปัญญา
2.
เน้นรางวัลที่เกิดจากความอิ่มใจในสัมฤทธิผลในการแก้ปัญหามากกว่ารางวัล
หรือเน้นแรงจูงใจภายในมากกว่าแรงจูงใจภายนอก
3.
ผู้เรียนจะเรียนรู้การแก้ปัญหาด้วยการค้นพบและสามารถนำไปใช้ได้
4.
ผู้เรียนจะจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ดีและได้นาน
สรุปได้ว่า บรูนเนอร์ กล่าวว่า
คนทุกคนมีพัฒนาการทางความรู้ความเข้าใจ หรือ การรู้คิดโดยผ่านกระบวนการที่เรียกว่า
Acting, Imagine และ Symbolizing ซึ่งอยู่ในขั้นพัฒนาการทางปัญญาคือ
Enactive, Iconic และ
Symbolic representation ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตลอดชีวิตมิใช่เกิดขึ้นช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิตเท่านั้น
บรูเนอร์เห็นด้วยกับ พีอาเจต์ ที่ว่า
มนุษย์เรามีโครงสร้างทางสติปัญญา (Cognitive structure) มาตั้งแต่เกิดในวัยเด็กจะมีโครงสร้างทางสติปัญญาที่ไม่ซับซ้อน
เมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมจะทำให้โครงสร้างทางสติปัญญาขยาย
และซับซ้อนเพิ่มขึ้น หน้าที่ของครูคือ
การจัดสภาพสิ่งแวดล้อมที่ช่วยเอื้อต่อการขยายโครงสร้างทางสติปัญญาของผู้เรียน
ทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความหมายของออซุเบล
ออซุเบล (Ausubel) บ่งว่า
ผู้เรียนเรียนรู้ข้อมูลข่าวสารด้วยการรับหรือด้วยการค้นพบ
และวิธีเรียนอาจจะเป็นการเรียนด้วยความเข้าใจอย่างมีความหมายหรือเป็นการเรียนรู้โดยการท่องจำโดยไม่คิด
ออซุเบล จึงแบ่งการเรียนรู้ออกเป็น 4 ประเภท ดังต่อไปนี้
การเรียนรู้โดยการรับอย่างมีความหมาย (Meaningful
Reception Learning)
การเรียนรู้โดยการรับแบบท่องจำโดยไม่คิดหรือแบบนกแก้วนกขุนทอง (Rote Reception Learning)
การเรียนรู้โดยการค้นพบอย่างมีความหมาย
(Meaningful Discovery Learning)
การเรียนรู้โดยการค้นพบแบบท่องจำโดยไม่คิดหรือแบบนกแก้วนกขุนทอง (Rote Discovery Learning)
ออซุเบล
สนใจที่จะหากฏเกณฑ์และวิธีการสอนการเรียนรู้อย่างมีความหมาย ไม่ว่าจะเป็นโดยการรับหรือค้นพบ
เพราะออซุเบลคิดว่าการเรียนรู้ในโรงเรียนส่วนมากเป็นการท่องจำโดยไม่คิดในที่นี้
จะขออธิบายเพียงการเรียนรู้อย่างมีความหมายโดยการรับ
การเรียนรู้โดยการรับอย่างมีความหมาย (Meaningful
Reception Learning)
ออซุเบล
ให้ความหมายว่าเป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้รับมาจากการที่ผู้สอนอธิบายสิ่งที่จะต้องเรียนรู้ให้ฟังและผู้เรียนรับฟังด้วยความเข้าใจ
โดยผู้เรียนเห็นความสัมพันธ์กับโครงสร้างพุทธิปัญญาที่ได้เก็บไว้ในความทรงจำ
และจะสามารถนำมาใช้ในอนาคต
ออซุเบลได้บ่งว่าทฤษฎีของท่านมีวัตถุประสงค์ที่จะอธิบายการเรียนรู้เกี่ยวกับพุทธิปัญญาเท่านั้น
(Cognitive learning) ไม่รวมการเรียนรู้
แบบการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก การเรียนรู้ทักษะทางมอเตอร์ (Motor Skills
learning) และการเรียนรู้โดยการค้นพบ
ออซุเบล ได้บ่งว่า
การเรียนรู้อย่างมีความหมายขึ้นอยู่กับตัวแปร 3 อย่าง ดังต่อไปนี้
สิ่ง (Materials) ที่จะต้องเรียนรู้จะต้องมีความหมาย
ซึ่งหมายความว่าจะต้องเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กับสิ่งที่เคยเรียนรู้และเก็บไว้ในโครงสร้างพุทธิปัญญา
(cognitive structure) ผู้เรียนจะต้องมีประสบการณ์
และมีความคิดที่จะเชื่อมโยงหรือจัดกลุ่มสิ่งที่เรียนรู้ใหม่ให้สัมพันธ์กับความรู้หรือสิ่งที่เรียนรู้เก่า
ความตั้งใจของผู้เรียนและการที่ผู้เรียนมีความรู้คิดที่จะเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้ใหม่ให้มีความสัมพันธ์กับโครงสร้างพุทธิปัญญา
(Cognitive Strueture) ที่อยู่ในความทรงจำแล้ว
โดยสรุป
ทฤษฎีการเรียนรู้ของออซุเบลเป็นทฤษฎีพุทธิปัญญานิยม ที่เน้นความสำคัญของครู
ว่าครูมีหน้าที่ที่จะจัดเรียบเรียงความรู้อย่างมีระบบ
และสอนความคิดรวบยอดใหม่ที่นักเรียนจะต้องเรียนรู้
ซึ่งแตกต่างกับแนวคิดของพีอาเจต์และบรูนเนอร์ที่เน้นความสำคัญของผู้เรียน
นอกจากนี้ทฤษฎีของออซุเบลเป็นทฤษฎีที่อธิบายการเรียนรู้อย่างมีความหมายเท่านั้น
ทฤษฎีการเรียนรู้อื่นๆ
การเรียนรู้ตามทฤษฎีของ Bloom ( Bloom's Taxonomy)
Bloom ได้แบ่งการเรียนรู้เป็น
6 ระดับ
1. ความรู้ที่เกิดจากความจำ (knowledge) ซึ่งเป็นระดับล่างสุด
2. ความเข้าใจ (Comprehend)
3. การประยุกต์ (Application)
4. การวิเคราะห์ ( Analysis) สามารถแก้ปัญหา ตรวจสอบได้
5. การสังเคราะห์ ( Synthesis) สามารถนำส่วนต่างๆ
มาประกอบเป็นรูปแบบใหม่ได้ให้แตกต่างจากรูปเดิม เน้นโครงสร้างใหม่
6. การประเมินค่า ( Evaluation) วัดได้ และตัดสินได้ว่าอะไรถูกหรือผิด
ประกอบการตัดสินใจบนพื้นฐานของเหตุผลและเกณฑ์ที่แน่ชัด
การเรียนรู้ตามทฤษฎีของบรูเนอร์ (Bruner)
1.
ความรู้ถูกสร้างหรือหล่อหลอมโดยประสบการณ์
2.
ผู้เรียนมีบทบาทรับผิดชอบในการเรียน
3.
ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความหมายขึ้นมาจากแง่มุมต่างๆ
4. ผู้เรียนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นจริง
5.
ผู้เรียนเลือกเนื้อหาและกิจกรรมเอง
6. เนื้อหาควรถูกสร้างในภาพรวม
การเรียนรู้ตามทฤษฎีของไทเลอร์ (Tylor)
1. ความต่อเนื่อง (continuity) หมายถึง ในวิชาทักษะ
ต้องเปิดโอกาสให้มีการฝึกทักษะในกิจกรรมและประสบการณ์บ่อยๆ และต่อเนื่องกัน
2. การจัดช่วงลำดับ (sequence) หมายถึง หรือการจัดสิ่งที่มีความง่าย
ไปสู่สิ่งที่มีความยาก ดังนั้นการจัดกิจกรรมและประสบการณ์
ให้มีการเรียงลำดับก่อนหลัง เพื่อให้ได้เรียนเนื้อหาที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
3. บูรณาการ (integration) หมายถึง
การจัดประสบการณ์จึงควรเป็นในลักษณะที่ช่วยให้ผู้เรียน
ได้เพิ่มพูนความคิดเห็นและได้แสดงพฤติกรรมที่สอดคล้องกัน
เนื้อหาที่เรียนเป็นการเพิ่มความสามารถทั้งหมด ของผู้เรียนที่จะได้ใช้ประสบการณ์ได้ในสถานการณ์ต่างๆ
กัน ประสบการณ์การเรียนรู้ จึงเป็นแบบแผนของ ปฏิสัมพันธ์ (interaction) ระหว่างผู้เรียนกับสถานการณ์ที่แวดล้อม
ทฤษฎีการเรียนรู้ 8 ขั้น ของกาเย่ ( Gagne )
1. การจูงใจ ( motivation phase) การคาดหวังของผู้เรียนเป็นแรงจูงใจในการเรียนรู้
2. การรับรู้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
(apprehending phase) ผู้เรียนจะรับรู้สิ่งที่สอดคล้องกับความตั้งใจ
3.
การปรุงแต่งสิ่งที่รับรู้ไว้เป็นความจำ ( acquisition
phase) เพื่อให้เกิดความจำระยะสั้นและระยะยาว
4. ความสามารถในการจำ (retention ahase)
5.
ความสามารถในการระลึกถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปแล้ว (recall
ahase )
6.
การนำไปประยุกต์ใช้กับสิ่งที่เรียนรู้ไปแล้ว (generalization
phase)
7. การแสดงออกพฤติกรรมที่เรียนรู้ (
performance phase)
8.
การแสดงผลการเรียนรู้กลับไปยังผู้เรียน ( feedback phase)
ผู้เรียนได้รับทราบผลเร็วจะทำให้มีผลดีและประสิทธิภาพสูง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น